ปริศนาวันประสูติ-สวรรคต
วันที่ 28 ธันวาคม ถูกกำหนดให้เป็นวันพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นวันประสูติหรือวันสวรรคตกันเล่า? เพราะตามธรรมเนียมแล้ว การกำหนดวันของบุคคลสำคัญนั้นมักถือเอาวันใดวันหนึ่งระหว่่างวันเกิดกับวันตายเสมอ
ให้เผอิญว่าวันสวรรคตของพระเจ้าตากสินเต็มไปด้วยความคลุมเครือไร้ข้อสรุป ว่าเป็นวันใดกันแน่ระหว่าง วันที่6, 7 หรือ 10 เมษายน 2325 อย่าลืมว่าเหตุการณ์บ้านเมืองช่วงนั้นชุลมุนชุลเกยิ่งนัก เจ้าพระยาจักรีกำลังปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์หลังจากที่ยึดราชบัลลังก์ของพระเจ้าตากในสภาพสมณเพศได้แล้ว
หลักฐานฝ่ายไทย อาทิ พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับโรงพิมพ์หมอบลัดเล ระบุว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกเพชฌฆาตลากตัวไปตัดศีรษะ (ไม่ใช่การทุบด้วยท่อนจันทน์) ถึงแก่พิราลัยในวันที่ 6เมษายน
ทว่าจดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศส ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 39 ที่เขียนขึ้นตามคำเล่าลือหลังจากเกิดเหตุโศกนาฏกรรมสดๆ ร้อนๆ ไม่ถึง 9 เดือน กลับยืนยันว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีสวรรคตในวันที่ 7 เมษายน
แต่แล้วข้อมูลจากจดหมายเหตุโหรในประชุมพงศาวดารภาค 8 กลับระบุว่า วันสวรรคตของพระเจ้าตากตรงกับวันแรม 13ค่ำ เดือน 5 หลังจากวันที่เจ้าพระยาจักรีกลับมาถึงเมืองธนบุรีได้เพียง 4 วัน ซึ่งพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศกล่าวว่า เจ้าพระยาจักรีเสด็จกลับมาถึงกรุงธนบุรีในวันที่ 6 เมษายน ถ้าเชื่อตามนี้พระเจ้าตากก็ต้องสวรรคตในวันที่ 10 เมษายน
เมื่อพินิจพิเคราะห์ถึงความน่าจะเป็น วันที่ 6 เมษายนนั้น ถือว่าเป็นฤกษ์งามยามดีของราชวงศ์ใหม่ อาจเป็นไปได้ว่าวันสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าตากอาจถูกกำหนดให้เลื่อนถอยออกมาหลังจากนั้นเล็กน้อย
อย่่างไรก็ตาม ไม่ว่าวันสวรรคตจะเป็นวันที่ 6 หรือ 7 หรือ 10 เมษายน รัฐก็คงละอายใจทีเดียว ที่จะให้ยึดเอาวันที่ยังอยู่ในห้วงเวลาของการเฉลิมฉลองวันจักรีมาเป็นวันรำลึกถึงพระเจ้าตากสินประกบคู่กันอีกวัน
ส่วนวันประสูติของพระองค์นั้นก็สับสนไม่แพ้กัน บ้างระบุว่า 17 เมษายน 2277แต่หลายท่านเห็นว่าน่าจะเขยิบขึ้นไปเป็นเดือนมีนาคมก่อนหน้านั้นสักสามสัปดาห์ แต่อย่างไรก็ไม่พ้นราศีเมษ หากไม่ใช่วันที่ 22 ก็ต้องเป็น23 มีนาคม
คือถ้าเชื่อว่าสวรรคตวันที่ 6 เมษายน ก็ต้องประสูติ 22มีนาคม แต่หากสวรรคต 7 เมษายน ก็ต้องเขยิบวันประสูติเป็น 23 มีนาคม ทั้งนี้ยังไม่นับว่าหากสวรรคตวันที่ 10 เมษายนแล้วคงจะต้องเลื่อนวันประสูติออกไปอีก 3-4 วัน
การใช้ตรรกะเช่นนี้ เหตุเพราะพระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อมีพระชนมายุได้ 48 ปีกับ 15 วัน ในเมื่อไม่มีพงศาวดารฉบับไหนระบุถึงวันประสูติ เราจำเป็นต้องคิดคำนวนย้อนหลังกันเองโดยยึดเอาวันสวรรคตเป็นตัวตั้ง
ปัจจุบันแนวโน้มที่ทำให้คนทั่วไปเชื่อว่าพระองค์ท่านทรงประสูติในวันที่ 23 เมษายน 2277ก็เพราะวันนั้นตรงกับวันอังคาร ต้องโฉลกถูกจริตกับมหาบุรุษที่เกิดมาเป็นชายชาตินักรบ เพราะดาวอังคารคือเทพเจ้าแห่งสงคราม
ในเมื่อไม่มีความแน่ชัดของวันประสูติและวันสวรรคต ถ้าเช่นนั้นวันที่ 28 ธันวาคม จะเป็นวันอื่นใดไปไม่ได้ นอกเสียจากวันที่พระเจ้าตากสินทรงขึ้นครองราชสมบัติในปี พ.ศ. 2310อันเป็นวันเดือนปีที่ไม่มีข้อโต้แย้งทางประวัติศาสตร์ แต่กลับไม่เป็นที่รู้จักของชาวไทยเลยแม้แต่น้อย
มีข้อน่าสังเกตว่าพระเจ้าตากทรงเฉลิมพระนามในพระสุพรรณบัตรว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 อันเป็นนามที่ีสืบต่อจากสาย "สมเด็จพระบรมราชาธิราช" แห่งกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีมาแล้วสามองค์ ได้แก่ สมเด็จพระบรมราชาที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) สมเด็จพระบรมราชาที่ 2 (เจ้าสามพระยา) และสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 (พระบรมไตรโลกนาถ) ซึ่งเป็นสายราชวงศ์สุพรรณภูมิผสมกับสุโขทัยทางเหนือ หาใช่ราชวงศ์อู่ทองสาย "สมเด็จพระรามาธิบดี"ที่ใช้สัญลักษณ์รูปพระนารายณ์ทรงครุฑ อันเป็นสายที่สืบต่อมายังราชวงศ์จักรีไม่
พิจารณาให้ดี นาม "สมเด็จพระบรมราชา" นี้สะท้อนถึงความพยายามที่พระองค์ต้องการฟื้นฟูและสืบต่อราชวงศ์ธรรมิกราชาของกรุงศรีอยุธยาที่มีรากเหง้ามาจากสุโขทัยนั่นเอง เนื่องด้วยพระองค์ท่านทรงมีความผูกพันกับเมืองตากและกำแพงเพชร
เห็นได้ว่าพระองค์ท่านมิได้คิดหักหาญตั้งตัวเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ใหม่ ส่วนการที่มาเรียกพระองค์ว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ดี หรือพระเจ้าตากสินนั้น เป็นการมาเรียกขึ้นภายหลัง
ถอดรหัสจากหางม้าทรงพระบรมรูป
อนุสรณ์เครื่องรฦกถึงวันพระเจ้าตาก ก็คืออนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าที่วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี ผลงานการออกแบบของ "อาจารย์ฝรั่ง" สุภาพบุรุษแห่งเมืองฟลอเรนซ์ มีชื่อไทยว่า ศ.ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร
น่าแปลกไหม อนุสาวรีย์หล่อตั้งแต่ปี 2480ยุคพระยาพหลพลพยุหเสนา แต่กว่าจะได้ติดตั้งต้องใช้เวลาต่อสู้กับกลุ่มอำมายต์เก่าอยู่นานถึง 17 ปี มาสำเร็จเอาในปี พ.ศ.2497 ยุครัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม
และแม้จะทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์อย่างเป็นทางการไปแล้ว แต่ก็ยังไม่วายถูกขุนนางผู้ดีในยุคนั้นทั้งสายสถาปนิก นักวิจารณ์ศิลปะ และสัตวแพทย์หลายท่านเอาชนะคะคานโจมตีในเรื่องไม่เป็นเรื่องของม้าทรง
เหตุเพราะม้ายืนตรง แต่กลับทำหางชี้สูงไม่ลู่ลง เหล่า "อีหลีด" โวยวายจนเป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งหลายฉบับว่า เป็นม้าที่ดูอุบาทว์ ประดักประเดิด สี่ขายืนสงบนิ่งไม่ได้ทำท่ากระโจนสักนิด แต่กลับยกหางสั่นเหมือนพวกขี้ครอกขึ้นวอ ท่าเช่นนี้เหมือนม้ากำลังจะขี้ (ขออภัย การตอบโต้ของอีหลีดยุคนั้นเขาใช้คำว่า "ขี้"ชัดเต็มปากเต็มคำ) อาจารย์ศิลป์โดนรุมประณามว่ามั่วนิ่มนั่งเทียนปั้น
อันที่จริงแล้ว มิใช่ว่าอาจารย์ศิลป์จักไม่รู้เรื่องกายวิภาคของม้าเลย ตรงข้ามท่านให้ความสำคัญกับม้าทรงชิ้นนี้เสียยิ่งกว่างานปั้นชิ้นใดๆ ถึงกับลงทุนปีนนั่งร้านที่มีความสูงกว่าสามเมตรขึ้นไปปรับแต่งแก้ไขปั้นดินจนถึงพอกปูนทุกขั้นตอนในโรงหล่อ หลังจากที่ให้ลูกศิษย์ช่วยกันหล่อปั้นตามแบบแล้ว เป็นเหตุให้ท่านพลัดตกลงมาจากนั่งร้าน จนแขนขาหักต้องเข้าเฝือกอยู่หลายเดือน
นอกจากนี้แล้วอาจารย์ศิลป์ยังครุ่นคิดถึงเรื่องสายพันธุ์ของม้า ว่าควรเป็นชนิดใด ต้องไม่ใช่ม้าอาหรับ ม้าออสเตรเลีย หรือม้านอร์แมน หากแต่ต้องเป็นม้าไทยเท่านั้น และเมื่อเป็นม้าไทย อาจารย์ศิลป์ก็ต้องกำหนดส่วนสัดให้แตกต่างไปจากม้าเทศที่เคยศึกษามาจากยุโรป
ปัญหาก็คือ พวกที่วิจารณ์นั้นคือกลุ่มผู้ลากมากดีสยามที่ดูถูกชาวจีนว่าเป็นคนต่างด้าว จึงจ้องแต่จะทับถมเกียรติภูมิของพระเจ้าตากสินผ่านการกดหางม้าทรงไว้มิให้เผยอผยองพองขน อาจารย์ศิลป์จึงถูกบีบให้กลายเป็นหนังหน้าไฟไปโดยปริยาย
ความตั้งใจแรกของอาจารย์ศิลป์นั้น ท่านต้องการนิรมิตม้าทรงของพระเจ้าตากในท่าผาดโผนโจนทะยานกำลังออกศึก เชื่อกันว่าหากไม่โดนกระแหนะกระแหนคอยจิกคอยตอดเป็นระยะๆ พระบรมราชานุสาวรีย์ของพระเจ้าตากสินนั้น คงจะต้องมีความงามสง่าสมชายชาติอาชาไนย ดุจเดียวกับอนุสาวรีย์ของพระเจ้านโปเลียนมหาราชที่กรุงปารีส หรือไม่ก็ต้องละม้ายกับรูปม้าทรงของจักรพรรดิทราจันแห่งกรุงโรม ณ ประเทศอิตาลี แผ่นดินมาตุภูมิของอาจารย์ศิลป์โน่นเทียว
ข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยจากเอกสารต่างชาติก็คือ เมื่อครั้งที่มีการจ้างวานศิลปินชาวฝรั่งเศสหล่อพระบรมรูปทรงม้าของรัชกาลที่ 5 นั้น ทางสยามต้องการให้ม้าทรงอยู่ในท่ายกขาหน้าเหมือนม้าของนโปเลียน แต่ทางโรงหล่อที่ยุโรปแย้งกลับมาว่า ท่าม้าเผ่นผยองหรือยกขาหน้าตามธรรมเนียมสากลมีไว้สำหรับจักรพรรดิที่เป็นนักรบเท่านั้น โรงหล่อกรุงปารีสมีความเห็นว่า รัชกาลที่ 5 ไม่ใช่กษัตริย์นักรบยกทัพทำสงครามด้วยพระองค์เอง จึงไม่อาจสร้างรูปทรงม้าในท่าเผ่นโผนตอบสนองความต้องการของผู้จ้างได้ จึงปั้นในท่าขี่ม้าสงบนิ่งตามที่เราเห็น
แต่สำหรับพระเจ้าตากสินมหาราช อาจารย์ศิลป์ท่านเป็นคนยุโรป จึงย่อมเข้าใจเรื่องนี้ค่อนข้างดี เมื่อเริ่มต้นก็ได้ปั้นม้าผาดโผนโจนทะยานอย่างออกรสชาด แต่แล้วสุดท้ายอำนาจพิเศษบางอย่างได้เข้ามากำกับ ไม่ต้องการให้มหาราชพระองค์นี้ดูโดดเด่นเกินหน้าเกินตาพระรูปทรงม้าที่มีอยู่เดิม ทำให้ต้องแก้ไขพิมพ์เขียวของม้าทรงถึง 5 ครั้ง
เมื่อไม่สามารถบันดาลให้ม้าทรงยกขาหน้าได้ดั่งที่ควรจะเป็น อาจารย์ศิลป์จึงแอบซ่อนรหัสนัยไว้ที่หางของมันให้ชี้ตระหวัดขึ้น เป็นภาพของม้าที่อยู่ในอิริยาบถเคร่งเครียด พร้อมที่จะออกวิ่งทะยานอยู่ทุกขณะ รอแต่ว่าเมื่อไหร่องค์จอมทัพจักกระชับบังเหียนให้สัญญาณเท่านั้น พลันม้าทรงก็พร้อมที่จะกระโจนไปข้างหน้าอย่างไม่รั้งรอ ปากเผยอจนเห็นฟันและหางที่เป็นพวงชี้สูงนั้น นับว่าสอดคล้องแล้วกับความตื่นคะนองของม้าศึก
อุปมาดั่งนักมวยหรือเสือที่กำลังจ้องจับเหยื่อมักเขม็งเกร็งกล้ามเนื้อ ย่อมดูมีพลังดุดันน่ากลัวมากกว่าเมื่อมันตะปบเหยื่อได้แล้ว เหล่าอีหลีดจึงไม่ควรมาแหย่หาเรื่องตัดหางม้าทิ้ง เพื่อหล่อใหม่แล้วให้ท่อนหางของมันลู่ลีบยืนจ๋องอย่างไร้ศักดิ์ไร้ศรี
ควรพึงสำเหนียกไว้ด้วยว่า ม้าทรงตัวนี้กำลังประกอบวีรกรรมกอบกู้ชาติ หาใช่อนุสาวรีย์ของนายทัพที่นั่งผึ่งผายอยู่บนหลังม้าเพื่อรับคำสรรเสริญพระบารมีอย่างกึกก้องจากฝูงชนที่คับคั่งตามท้องถนนโห่ร้องต้อนรับผู้มีชัย ซึ่งม้าเหล่านั้นมักมีลักษณะสวยงามเหมือนม้าที่ฝึกในละครสัตว์
ภายใต้สภาวะที่ศิลปินถูกกดดันจาก "มือที่มองไม่เห็น" หางม้าทรงจึงเป็นสัญลักษณ์เพียงหนึ่งเดียวที่ใช้เป็นเครื่องมือประกาศยกย่องฤทธานุภาพและความสง่างามของพระเจ้าตากสินมหาราชอย่างสมบูรณ์แบบ
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ ปริศนาโบราณคดีตอนที่ 56
ฉบับเดือนธันวาคม 2554 มติชนสุดสัปดาห์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น