คนไทยจำนวนไม่น้อยอาจไม่รู้จักหรืออาจหลงลืมไปว่า วันที่ 28 ธันวาคม อันตรงกับวันปราบดาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็น วันตากสินมหาราชานุสรณ์ ในวันนี้ของทุกปีทั้งภาครัฐและภาคประชาชนจะร่วมกันทำพิธีถวายบังคม พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วงเวียนใหญ่ ธนบุรี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาติไทยและปวงชนชาวไทย นอกจากนี้ชาวไทยกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่ยังคงจงรักภักดีและเคารพบูชาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ต่างพร้อมใจกันเดินทางไปสักการะและบวงสรวงดวงพระวิญญาณของพระองค์ยังสถานที่สำคัญซึ่งเกี่ยวข้องและถือเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงมหาราชพระองค์นี้ในวันนี้ด้วย อันได้แก่ ศาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ พระราชวังเดิม หรือ พระราชวังหลวงในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานีของไทย ปัจจุบันคือที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพเรือ ภายในศาลนี้ประดิษฐานพระบรมรูปหล่อด้วยโลหะรมดำของพระองค์ พระอุโบสถน้อย วัดอรุณราชวรารามซึ่งเป็นที่เก็บรักษาพระแท่นทรงบำเพ็ญกรรมฐาน และวิหารน้อย วัดอินทาราม ซึ่งประดิษฐานพระแท่นบรรทมของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีระหว่างเสด็จมาประทับทรงศีลและเจริญกรรมฐานที่วัดแห่งนี้ พระแท่นองค์นี้ทำด้วยไม้ พนักแกะด้วยงาช้าง ฉาบพุดตานประกอบใบ ฝีมือประณีตมาก เนื่องในวันสำคัญทางประวัติศาสตร์นี้ ดิฉันจึงขอถือโอกาสนำท่านทั้งหลายไปชมอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งประดิษฐ์ฐาน ณ วงเวียนใหญ่ ธนบุรี ด้วยกันในวันนี้ | |||
อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2497 เป็นพระบรมรูปทรงม้าที่มีขนาดเท่าครึ่งพระองค์จริง หล่อด้วยโลหะรมดำ ออกแบบและปั้นโดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี โดยมี สิทธิเดช แสงหิรัญ, ปกรณ์ เล็กสน และสนั่น ศิลากร เป็นผู้ช่วย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี นำเสนอภาพแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่แห่งประวัติศาสตร์ชาติไทยในท่าทางที่สง่างามสมชายชาตินักรบ สงบนิ่งและไม่หวั่นไหวดังศิลา แต่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความหาญกล้าและเด็ดเดี่ยว ม้าทรงของพระองค์นั้นเล่าแม้จะหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่ก็เต็มไปด้วยพลังแห่งม้าศึกชั้นดีซึ่งเชี่ยวชาญในการยุทธ์ และกำลังคึกคะนองพร้อมรอคอยคำบัญชาจากจอมทัพให้โลดแล่นไปข้างหน้าเพื่อสร้างวีรกรรมอันยิ่งใหญ่และนำชัยชนะกลับมาสู่มาตุภูมิ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอยู่ในชุดขุนศึก กำลังประทับนั่งบนหลังม้าศึกคู่พระทัย พระวรกายเหยียดตรง พระอูรุ (ต้นขา) ทั้งสองแนบอยู่กับลำตัวอาชา พระบาทสอดอยู่ในโกลนในลักษณะเตรียมพร้อมที่จะตบโกลนเพื่อเตือนให้อาชาคู่พระทัยโลดลิ่วไปข้างหน้า พระหัตถ์ซ้ายทรงกระชับสายบังเหียนเพื่อดึงให้ม้าซึ่งกำลังคึกคะนองหยุดนิ่งอยู่กับที่ พระหัตถ์ขวาทรงถือพระแสงดาบยกชูขึ้นสู่นภากาศในท่าออกคำสั่งให้กองทัพหยุดนิ่งอยู่กับที่เพื่อรอฟังพระบัญชาให้เข้าประจัญบานกับข้าศึก พระเศียรทรงพระมาลาเส้าสูงแบบไม่พับซึ่งมีขนนกประดับอยู่บนยอด พระพักตร์ที่ผินไปทางด้านซ้ายเล็กน้อยและพระหนุที่เชิดพองาม บ่งบอกถึงความคาดคะเนและการระแวดระวังในสถานการณ์ พระเนตรทอประกายแห่งความเด็ดเดี่ยวและความสุขุมคัมภีรภาพ พระขนงขมวดเข้าหากันแสดงถึงความครุ่นคิดและไตร่ตรอง พระโอษฐ์ที่มีพระมัสสุประดับอยู่บดแน่นเข้าหากันบ่งบอกถึงความมุ่งมั่นและเด็ดขาดในการตัดสินพระทัย การนำเสนอพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในลักษณะเช่นนี้เผยให้เห็นเจตนารมณ์ของประติมากรในอันที่จะสะท้อนลักษณะอันเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวสมชายชาตรีของจอมทัพผู้เกรียงไกรและมหาราชที่ทรงไว้ซึ่งความปราดเปรื่องและสุขุมคัมภีรภาพ ผู้ทรงมุ่งมั่นในอันที่จะกอบกู้เอกราชให้กับชาติไทย สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับบ้านเมือง และนำความสงบสุขกลับคืนสู่อาณาประชาราษฎร์ของพระองค์ ดังเช่นที่ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กล่าวอธิบายถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ของท่านไว้ว่า ...ข้าพเจ้าคิดทำอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินในลักษณะขององค์วีรบุรุษไทย... ข้าพเจ้าสร้างมโนภาพให้เห็นพระองค์ในลักษณะอันเปี่ยมด้วยมนุษยธรรมอย่างแท้จริงเพื่อกอบกู้อิสรภาพของชาติไทยในยามที่ความหวังทั้งหลายดูเหมือนจะสูญไปแล้วจากจิตใจของชาวไทยทั้งมวล ข้าพเจ้าคิดเห็นองค์วีรบุรุษของเราในขณะทำการปลุกใจทหารหาญให้เข้าโจมตีข้าศึกเพื่อชัยชนะ ดังนั้นความรู้สึกที่แสดงออกในพระพักตร์จึงเต็มไปด้วยสมาธิในความคิดและเต็มไปด้วยลักษณะของชายชาติชาตรี จุดมุ่งหมายและเจตนารมณ์ในการนำเสนอรูปแบบการสร้างสรรค์อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชให้เต็มไปด้วยพลังแห่งการเคลื่อนไหวอันสงบนิ่ง สง่างาม น่าเกรงขาม ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจแห่งขัตติยะ และมีค่าควรยิ่งแก่การสักการบูชา สะท้อนให้เห็นความปราดเปรื่องทางปัญญา ความแม่นยำในการคิดคำนวณโครงสร้างของประติมากรรม ตลอดจนความล้ำเลิศและความแยบยลในการสร้างสรรค์ศิลปะของประติมากรท่านนี้ ดังนั้น อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วงเวียนใหญ่ ธนบุรี จึงควรค่าแก่การได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นผลงานประติมากรรมชิ้นเยี่ยมยอดที่สุดของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย อย่างแท้จริง | |||
แต้จิ๋ว หรือ เฉาโจว (潮州) ในภาษาอังกฤษสะกดหลายแบบ Chaozhou, Teochew, Teochiu, Diojiu, Tiuchiu, Chiuchow อาจหมายถึง ภาษาแต้จิ๋ว ภาษาถิ่นภาษาหนึ่งในประเทศจีน จังหวัดแต้จิ๋ว เขตการปกครองในประเทศจีนอยู่ทางทิศตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง ชาวจีนแต้จิ๋ว ชาวจีนกลุ่มหนึ่งในเขตเฉาซัน(เมืองแต้จิ๋ว,ซัวเถา)มณฑลกวางตุ้ง ทางใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
วันอังคารที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2557
อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วงเวียนใหญ่ ธนบุรี
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น