ซากเรือสำเภาที่ต่อในไทยซึ่งขุดได้ในแคว้นของจีน
กลุ่มจีนแต้จิ๋ว มาจากตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลกวางตุ้ง กลุ่มจีนฮกเกี้ยน มาจากตอนใต้ของมณฑลฝูเจี้ยน กลุ่มจีนไหหลำ มาจากตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะไหหลำ กลุ่มจีนกวางตุ้ง มาจากตอนกลางของมณฑลกวางตุ้ง กลุ่มจีนแคะ มาจากตอนเหนือของมณฑลกวางตุ้ง
จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ไทยกล่าวว่า ชาวจีนที่เดินทางมาไทยในสมัยอยุธยาส่วนใหญ่นั้นเป็นจีนฮกเกี้ยน มักมีอาชีพรับราชการ แต่หลังสมัยอยุธยานั้น จะมีชาวจีนแต้จิ๋วอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมาก จีนฮกเกี้ยนมีเป็นจำนวนมากแถบภาคใต้ของจังหวัดภูเก็ต ปัตตานี สงขลา และระนอง สำหรับจีนแต้จิ๋ว อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี เป็นส่วนใหญ่ ชาวจีนแต้จิ๋วอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ในระยะหลังปี 2310 (1767) เนื่องจากได้รับการสนับสนุนและได้รับสิทธิพิเศษบางประการเพราะพระเจ้าตากสินทรงมีพระบิดาเป็นชาวแต้จิ๋ว และชาวแต้จิ๋วได้มีบทบาทในการสู้รบเพื่อกอบกู้เอกราช พวกแต้จิ๋วส่วนใหญ่จะอพยพมาทางเรือ และตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย ได้แก่เมืองต่าง ๆ ในอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้แก่ ตราด จันทบุรี บางปลาสร้อย (ชลบุรี) แปดริ้ว และในกรุงเทพฯ ต่อมาภายหลังในคริสตศตวรรษที่ 19 พวกแต้จิ๋วจึงขยับขยายออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่นอกเขตดังกล่าว ได้แก่ อุตรดิตถ์ ปากน้ำโพ (นครสวรรค์) ตลอดจนพิจิตร พิษณุโลก สวรรคโลก เด่นชัย เมื่อมีการสร้างทางรถไฟไปถึงแก่งคอยและขึ้นไปทางเหนือ ในปี 2451 (1908) เป็นการยากที่จะเสนอข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนของชาวแต้จิ๋วในประเทศไทยในคริสตวรรษที่ 18 และต้นคริสตศตวรรษที่ 19 เพราะยังไม่มีการทำสำมะโนประชากร ข้อมูลจากเอกสารชั้นต้นที่จะพึงหาได้เกี่ยวกับจำนวนชาวแต้จิ๋ว เป็นข้อมูลในระยะหลังจากนั้น คือในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 20 จากการสำรวจสำมะโนครัว ร.ศ.128 (ค.ศ. 1909) นั้น ได้ระบุจำนวนชาวจีนแยกตามถิ่นฐาน และภาษาพูด ดังนี้
ตารางที่ 1 จำนวนชาวจีนในกรุงเทพฯ ร.ศ.128 (ค.ศ.1909)
กลุ่มภาษาพูด
|
จำนวน
| ||
ชาย | หญิง | รวม | |
แต้จิ๋ว | 78,091 | 8,207 | 86,298 |
ฮกเกี้ยน | 19,823 | 2,367 | 22,190 |
กวางตุ้ง | 25,978 | 4,151 | 30,192 |
ไหหลำ | 12,165 | 903 | 13,068 |
แคะ | 9,411 | 1,409 | 10,820 |
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานจากแหล่งใดก็ตามต่างระบุว่า ในบรรดาชาวจีนเหล่านี้มีชาวจีนแต้จิ๋วมากที่สุด ชาวจีนแต้จิ๋วจึงเป็นชาวจีนกลุ่มที่สำคัญที่สุดกลุ่มหนึ่ง เมื่อมีการศึกษาเกี่ยวกับชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย
ที่มาของชาวจีน ชื่อแต้จิ๋วนอกจากจะเป็นชื่อของกลุ่มชาวจีนที่พูดภาษาถิ่นเดียวกัน คือ ภาษาแต้จิ๋วแล้วยังเป็นชื่อเมืองเก่าแก่อันเป็นต้นกำเนิดของชาวแต้จิ๋วทั้งหลาย ได้แก่ เมืองแต้จิ๋ว (Teochiu) หรือเมืองเฉาโจว (Chaozhou) ตามที่ออกเสียงในภาษากลาง เมืองแต้จิ๋วเป็นเขตการปกครอง ที่เป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกของมณฑลกวางตุ้งมาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 5 ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.413 ในราชวงศ์จิ้นตะวันออก เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การปกครอง และวัฒนธรรมของภูมิภาคตลอดมา จนมีคำกล่าวกันว่า “หากมากวางตุ้งแล้วมิได้เห็นเมืองแต้จิ๋วก็เสียเที่ยวเปล่า” เมืองแต้จิ๋วเป็นที่รู้จักกันดีในด้านทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ส้มแต้จิ๋ว ชาแต้จิ๋ว น้ำตาลแต้จิ๋ว ในด้านวัฒนธรรม เช่น อาหารแต้จิ๋ว งิ้วแต้จิ๋ว ผ้าปักลูกไม้แต้จิ๋ว ตลอดจนงานหัตถกรรมอื่น ๆ แต่เดิมแต้จิ๋วเป็นเมืองใหญ่สำคัญเมืองหนึ่ง มีอำเภออยู่ในปกครอง 9 อำเภอ (จากคำบอกเล่าของเฉินอิงเฉ ประธานสมาคมจีนโพ้นทะเลอำเภอเฉาโจว) แต่สกินเนอร์ระบุว่าแต้จิ๋วมีเซี่ยน (hsien) หรืออำเภอ ที่ชาวแต้จิ๋วอพยพกันมามากอยู่ 6 อำเภอ ได้แก่ เฉาอัน เฉาหยาง เฉิงห่าย ผู่หนิง เจ้หยาง และเหราผิง (Chaoan, Chaoyang, Chenghai, Puning, Chiehyang และ Jaoping)
ชื่อแต้จิ๋วเป็นชื่อโบราณ คำว่าเตีย (แต้) เป็นคำโบราณแปลว่า ทะเล คำว่า โจว (จิ๋ว) แปลว่าเมืองแต้จิ๋วจึงแปลว่า เมืองชายทะเล คล้าย ๆ ชื่อจังหวัดชลบุรีของไทยเรา ชาวจีนแต้จิ๋วรุ่นเก่า ๆ ที่อพยพมาเมืองไทยบางคนยังบอกว่าตนมาจากเมืองแต้จิ๋ว แต่คนรุ่นหลังจะเรียกชื่อใหม่คือ เตี่ยอัน ซึ่งเป็นชื่อที่ออกสำเนียงแต้จิ๋วของอำเภอเฉาอัน (Chaoan) ปัจจุบันอำเภอเฉาอันคือ ที่ตั้งของเมืองแต้จิ๋วโบราณ เมืองแต้จิ๋วในระยะหลังเมื่อผ่านยุครุ่งเรืองแล้วได้กลายเป็นอำเภอเฉาอันสังกัดเทศบาลนครซ่านโถว (ซัวเถา) จนกระทั่งปี 2532 (1989) จึงได้รับการตั้งเป็นเทศบาลเมืองสังกัดมณฑลกวางตุ้ง รัฐบาลจีนได้ประกาศให้เมืองแต้จิ๋วเป็นเมืองประวัติศาสตร์ ในปี 2529 (1986)
อย่างไรก็ตาม เขตวัฒนธรรมแต้จิ๋วมิได้มีขอบข่ายอยู่เฉพาะเมืองแต้จิ๋ว เมื่อครั้งที่แต้จิ๋วยังเป็นมณฑลมีอำเภออยู่ในสังกัด อำเภอเหล่านั้นก็ล้วนเป็นเขตวัฒนธรรมแต้จิ๋วและเป็นบริเวณที่คนไทยเคยได้ยินชื่อคุ้นหูทั้งสิ้น เช่น เท่งไห้ ซัวเถา โผ่วเล้ง ฯลฯ อำเภอเฉิงห่าย หรือเท่าไห้เป็นอำเภอสำคัญ เพราะได้มีท่าเรือใหญ่เกิดขึ้นที่นี่ในต้นราชวงศ์หมิง (คริสตวรรษที่ 15 ) ชื่อว่าจางหลินหรือจึงลิ้ม ชาวแต้จิ๋วที่อพยพมาเมืองไทยในช่วงแรก ๆ ล้วนลงเรือที่ท่าจางหลินทั้งสิ้น ในสมัยต่อมาเมื่อมีการเปิดท่าเรือซัวเถาที่เมืองซัวเถาหรือซานโถว (Shantou) ชาวแต้จิ๋วจึงออกเดินทางจากท่าเรือซัวเถา เมืองซัวเถากลายเป็นศูนย์กลางของเขตวัฒนธรรมแต้จิ๋ว และยังเป็นมาจนทุกวันนี้ ชื่อเฉาซาน (Chaoshan) ที่ใช้เรียกบริเวณที่เป็นแต้จิ๋ว ในปัจจุบันมาจากการนำคำต้นของเมืองสำคัญในอดีตสองเมืองมาต่อกัน ได้แก่คำว่า ซาน จากซ่านโถว (Shantou) ชื่อที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ ชื่อเฉาซาน อันได้แก่บริเวณดังกล่าวนั่นเอง
เนื่องจากการค้นคว้าเรื่องชาวแต้จิ๋วในสมัยที่หนึ่งนี้ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ ค.ศ.1767-1850 ซึ่งตรงกับสมัยธนบุรีจนสิ้นรัชกาลที่ 3 ของรัตนโกสินทร์ หรือหากเทียบกันจีนก็อยู่ในราชวงศ์ชิงในสมัยพระเจ้าเฉียนหลง (Chienlung) ถึงสมัยพระเจ้าเจียชิ่ง (Chiaching) รายละเอียดของชุมชนแต้จิ๋วที่จะนำเสนอในส่วนนี้ จึงจะเน้นในเขตวัฒนธรรมแต้จิ๋วเก่า โดยจะกล่าวถึง เฉาโจว จางหลิน เฉิงห่าย และเฉาหยาง (หรือเตียเอีย)
(Chaozhou) หรือเฉาอัน (Chaoan)
เฉาโจวคือเมืองแต้จิ๋วดังได้กล่าวมาแล้ว เป็นชื่อเมืองสมัยโบราณเหมือนเมืองขุขันธ์ หรืออู่ทองของไทยปัจจุบันมีชื่อเป็นทางการว่าเฉาอัน เมืองแต้จิ๋วนี้ตั้งอยู่ห่างจากอ่าวซัวเถาลึกเข้าไป 40 กิโลเมตร มีภูเขาล้อมรอบเมืองสามด้านและมีแม่น้ำหานเจียงไหลผ่านเมือง แต้จิ๋วเป็นเมืองรากเหง้าของวัฒนธรรมแต้จิ๋ว ในสมัยราชวงศ์ถังได้มีการสร้างวัดมหายานคือวัดคายหยวน (Kai Yuan Temple) และมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำหานเจียงเชื่อมเมืองแต้จิ๋วทั้งสองฝั่ง ชื่อสะพานเซี้ยงจือเฉียว (Xing Zi) ทั้งวัดและสะพานนี้มีอายุกว่า 800 ปี การสร้างสะพานเซียงจือใช้เวลา 60 ปี โดยการถมหินลงไปในแม่น้ำจนสูงพ้นระดับน้ำเป็นระยะ ๆ เหมือนเสาตอหม้อ แล้วจึงสร้างสะพานเชื่อมเสาตอหม้อหินแต่ละจุด
ในสมัยราชวงศ์ถังเช่นกัน หานหยี่ (Han Yu) ขุนนางผู้ใหญ่กระทำความผิดจึงถูกเนรเทศให้มาปกครองแต้จิ๋ว เพราะถือว่ากันว่าแต้จิ๋วเป็นเมืองกันดารห่างไกลเมืองหลวง แต่หานหยี่เป็นขุนนางที่มีความสามารถและรอบรู้ในเรื่องวัฒนธรรม การเนรเทศหานหยี่มาที่แต้จิ๋วจึงกลับก่อให้เกิดคุณูปการแก่ชาวแต้จิ๋วชั่วระยะเวลาเพียง 8 เดือนที่ปกครองเมืองแต้จิ๋ว หานหยี่ได้ริเริ่มทำสิ่งต่าง ๆ ที่นำความเจริญมาสู่เขตนี้ ชาวแต้จิ๋วจึงรักใคร่ยกย่องหานหยี่มาก ได้ตั้งชื่อแม่น้ำชื่อว่า “แม่น้ำหาน” ต่อมาได้มีการตั้งศาลบูชาหานหยี่เรียกว่า ศาลหานเหวินกง มีอนุสาวรีย์ของหานหยี่ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในศาล มีเรื่องเล่าลือต่อกันมาว่า เดิมเฉาโจวเป็นที่ต่ำอยู่ในทะเล มีจระเข้เข้ามาอาศัยอยู่ชุกชุม หานหยี่ได้ปราบจระเข้ได้หมด ต่อมาพื้นที่บริเวณนี้งอกสูงขึ้นพ้นระดับน้ำทะเลกลายเป็นชุมชนใหญ่ เมืองแต้จิ๋วรุ่งเรืองมาจนสมัย ราชวงศ์ซ้องใต้เมื่อเมืองท่าจางหลินซึ่งอยู่ติดทะเล มากกว่าเมืองแต้จิ๋วกลางเป็นเมืองท่าสำคัญขึ้นมา แต้จิ๋วจึงกลายเป็นเขตวัฒนธรรมเก่ามากกว่าเป็นเขตเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 18 และ 19
เมืองแต้จิ๋วเป็นเมืองทำน้ำตาล มีการปลูกอ้อยและหีบอ้อยกันมาแต่โบราณ การค้าน้ำตาลในสมัยก่อนมีมากที่ตำบลเจียงตุง (กังตั๋ง) ของเมืองนี้ คนแต้จิ๋วเริ่มทำน้ำตาลเพื่อจะใช้เป็นเครื่องปรุงในการทำขนมอี๋ก่อนเทศกาลตรุษจีน พันธุ์อ้อยที่ปลูกกันสมัยก่อนเป็นพันธุ์ดั้งเดิมชื่อเต้กเจีย (แปลว่าอ้อยไม้ไผ่) เป็นอ้อยพันธุ์แข็งสีขาวออกเขียว ข้อยาว ใส ปัจจุบันไม่ใช้พันธุ์นี้แล้ว การหีบอ้อยก็ใช้ลูกหีบ มีสัตว์เช่น วัว หรือควาย ลากแกนของเดือยที่หมุนลูกหีบเพื่อบีบน้ำอ้อยออกมา นอกจากน้ำตาล ผลผลิตของแต้จิ๋วที่รู้จักกันดีคือ ผักดองเค็มต่าง ๆ
ปัจจุบันมีคนแต้จิ๋วจากอำเภอเตี่ยอันเป็นชาวจีนอพยพอยู่โพ้นทะเลจำนวนถึง 6 แสน-7 แสนคน (ข้อมูลจากสมาคมจีนโพ้นทะเลอำเภอเตี่ยอัน) ในจำนวนนี้อยู่ในประเทศไทยประมาณ 3 แสนคน คนจีนจากเมืองแต้จิ๋วที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ ยี่กอฮง ซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นพระอนุวัฒน์ราชนิยม (ฮง เตชะวาณิชย์) เป็นบุตรของชาวจีนโพ้นทะเลจากอำเภอเตี่ยอัน ลูกหลานชาวเตี่ยอันที่เป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบันก็มีเช่น นายศุภสิทธิ์ มหาคุณ นายชวลิต ไตรรัตนผดุงพร ผู้ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเตี่ยอันในประเทศไทย
จางหลิน (Zhanglin)
เมืองท่าจางหลิน ซึ่งเรียกในสำเนียงแต้จิ๋วว่า จึงลิ้ม เคยเป็นเมืองที่อยู่ติดทะเล แต่ปัจจุบันตื้นเขิน และงอกออกไปจนอยู่ห่างจากทะเลถึง 8 กิโลเมตร กลายเป็นตำบลหนึ่งอยู่ในอำเภอเฉิงห่าย จางหลินเริ่มเป็นเมืองสำคัญทางใต้ของจีนในศตวรรษที่ 15 ในสมัยราชวงศ์หมิงต่อต้นราชวงศ์ชิง การค้าสำเภาระหว่างไทยกับจีนในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นล้วนเป็นการค้าจากท่าเรือจางหลินทั้งสิ้น และชาวแต้จิ๋วที่อพยพมาประเทศไทยก็เดินทางออกจากท่าเรือนี้เอง ในยุคที่รุ่งเรือง จางหลินมีถนน มีโกดังสินค้า มีตลาด มีคลังสินค้าใหญ่ และมีท่ารับส่งสินค้าจากเรือ การปลูกบ้านเรือของพ่อค้าที่จางหลินจะหันด้านหน้าออกถนน ด้านหลังติดแม่น้ำซึ่งไหลไปออกทะเล การขนส่งสินค้าจึงทำได้โดยนำเรือมาเทียบหลังบ้านแล้วก็ขนสินค้าเข้าไปไว้ชั้นบน (เล่าเต้ง) ได้เลย แม่น้ำหลังบ้านจะมีน้ำลึกมากเพื่อให้เรือล่องเข้ามาได้ ที่จางหลินมีด่านศุลกากรตั้งอยู่ด้วย ปัจจุบันนี้แม่น้ำได้ตื้นเขินหมดเหลือเพียงลำน้ำเล็ก ๆ เรือสำเภาที่แล่นค้าขายระหว่างไทยกับชาวแต้จิ๋วเป็นเรือสำเภาตรงหัวเรือทาสีแดง มีรูปตาเหมือนตาปลาอยู่ด้วย ชาวแต้จิ๋วเรียกเรือนี้ว่าอั้งเถ้าจุ้ง (หงโถวฉวน) ซึ่งแปลได้ว่าเรือสำเภาหัวแดง เรือสำเภาหัวแดงจึงเป็นสัญลักษณ์ของการค้าระหว่างไทยกับจีนแต้จิ๋ว เราอาจดูตัวอย่างเรือนี้ได้ที่วัดยานนาวา เมื่อปี 2514 (1971) มีการขุดพบซากโครงกระดูกเรือสำเภาหัวแดงได้ที่บริเวณก้นคูนอกท่าเรือจางหลิน ที่กระดูกเรือมีข้อความสลักว่า
“เรือหลิงโค่วมีสองเสากระโดง ชื่อเรือฉ่ายว่านลี่ เป็นเรือสินค้าของเมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง”
ไม้โครงกระดูกเรือนี้ทำด้วยไม้สัก ซึ่งเป็นไม้จากประเทศไทย ยาวถึง 39 เมตร มี 5 ชั้น สันนิษฐานว่าเรือดังกล่าวสร้างที่ประเทศไทยมีความเป็นไปได้มาก เพราะในสมัยนั้นมีการสร้างเรือสำเภาที่กรุงเทพฯ ดังที่ Crawford เล่าไว้ว่า
“Almost all the junks employed in the commerce between the Indian Islands and China are built at Bangkok on the great river (Chaopraya) of Siam,and the capital of that kingdom. This is chosen for its convenience, and the extraordinary cheapness and abundance of fine timber, especially teak, which it affords. The parts of the vessel under water are constructed of ordinary timber, but the upper works of teak....”
คอร์ดเฟริด ยังได้ระบุอีกว่า ค่าต่อเรือขนาด 476 ตันในกรุงเทพฯ คิดเป็นเงินเพียง 7,400 เหรียญสเปน ในขณะที่เรือขนาดเดียวกันจะมีราคา 16,000 เหรียญสเปน ถ้าต่อที่จางหลิน และราคาถึง 21,000 เหรียญสเปน ถ้าต่อที่เอ้หมิง ในปี 2363 (1820) ถึง 2373 (1830) ค่าต่อเรือที่กรุงเทพฯ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 20,000 บาท สำหรับเรือระวาง 400 ตัน
ภายในเรือสำเภาที่ขุดได้นี้ยังพบเครื่องปั้นดินเผา และเงินโบราณสมัยราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิงอยู่ด้วย หลังจากที่ขุดพบซากเรือแล้วไม่ได้มีการเก็บรักษาไว้ เมื่อเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมซากเรือก็ถูกทำลายไปหมด มีแต่รูปภาพที่มีผู้บันทึกไว้ เพราะเหตุที่จางหลินเป็นเมืองท่า ผู้คนที่พักอาศัยอยู่จึงเป็นพ่อค้าและชาวเรือเป็นส่วนใหญ่ ชาวแต้จิ๋วเป็นนักเดินเรือที่เชี่ยวชาญเพราะอยู่ติดทะเล และมีนิสัยชอบผจญภัย แต่ชาวเรือก็ยังต้องการที่พึ่งพิงทางใจ จึงพบว่ามีศาลเจ้าขนาดใหญ่ ชื่อศาลหมาโจ๊ว (ชิกเชี้ยม้า) หรือม่าจู่ หมาโจ๊วเป็นเทพธิดาที่คุ้มครองชาวเรือให้เดินทางโดยปลอดภัย ชอบใส่เสื้อแดง ช่วยชีวิตผู้คนกลางทะเล ชาวแต้จิ๋วจะไหว้ศาลหมาโจ๊วก่อนออกเรือ และเมื่อมาถึงประเทศไทยแล้วก็ได้มาสร้างศาลหมาโจ๊วที่จากหลินทุกวันนี้เป็นที่พักอาศัยของชาวจีน 20 ครอบครัว ถึงแม้รัฐบาลจีนจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้มีการบูรณะซ่อมแซม ที่เสาประตูเสาทางเข้าศาลสองด้านจะมีภาพปูนปั้นเคลือบขนาดใหญ่เป็นรูปมังกรข้างหนึ่งและหงส์ข้างหนึ่ง
จากหลินเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญ อยู่จนกระทั่งเมื่อมีการเปิดท่าเรื่อซ่านโถวในปี 2401 (1858) เป็นท่าเรือเปิด และการเกิดเรือกลไฟแทนที่เรือสำเภา บทบาทของจางหลินก็ลดน้อยลง ประกอบกับสภาพภูมิศาสตร์ที่เปลี่ยนไปทำให้จางหลินไม่ใช่เมืองติดทะเลดังแต่ก่อน การเดินทางของ ชาวแต้จิ๋วมาสู่ประเทศไทยจากท่าเรือนี้จึงหมดไปในที่สุด
เฉิงห่าย (Shenghai)
อำเภอเฉิงห่ายหรือเท่งไฮ้ในสำเนียงแต้จิ๋วเป็นอำเภอเก่าแก่ตั้งอยู่ในตอนกลางของเขตเฉาซานบนบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมตอนล่างของแม่น้ำหาน อยู่ห่างจากนครซานโถว (ซัวเถา) 16 กิโลเมตร ประกอบด้วยตำบล 13 ตำบล อำเภอเฉิงห่ายตั้งขึ้นในปี 2106 (1563) ในสมัยราชวงศ์หมิง มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นมากถึงจำนวน 1,000 คน ต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร เป็นอำเภอที่ตั้งของท่าเรือจางหลิน เฉิงห่ายแปลว่าทะเลใส เพราะอำเภอนี้อยู่ติดทะเล ชาวแต้จิ๋วจำนวนมากในประเทศไทยอพยพมาจากเฉิงห่าย โดยเฉพาะในระหว่างปี ค.ศ. 1767-1781 ซึ่งเป็นรัชสมัยของพระเจ้าตากสินในประเทศไทย ที่เป็นเช่นนี้เพราะพระบิดาของพระเจ้าตากสินเป็นจีนแต้จิ๋วจากอำเภอเฉิงห่าย ชื่อเจิ้งหย่ง หรือที่คนไทยโดยทั่วไปรู้จักกันในชื่อไหฮอง เมื่อมา อยู่เมืองไทยเป็นนายอากรบ่อนเบี้ยและมีภรรยาชาวไทย พระเจ้าตากสินจึงทรงมีพระญาติชาวแต้จิ๋วจากเฉิงห่ายท่านเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวจีนในนามเจิ้งซิ่น ในภายหลังเมื่อพระเจ้าตากสินรวมกำลังเพื่อต่อสู้กับพม่าและปราบก๊กอื่นๆ ที่ตั้งตนเป็นใหญ่ก็ได้อาศัยกำลังจากคนจีนแต้จิ๋วที่จันทบุรี เมื่อราชาภิเษกเป็น พระมหากษัตริย์แล้วชาวเฉิงห่ายจำนวนมากก็อพยพมาประเทศไทย เพื่อหาลู่ทางทำมาหากิน คนเหล่านี้ได้รับการยกย่องเป็นจีนหลวง รายละเอียดของพระเจ้าตากสินกับชาวแต้จิ๋วจากเฉิงห่ายมีปรากฏอยู่ในรายงานวิจัยฉบับนี้ ปัจจุบันนี้ที่เฉิงห่ายมีอนุสาวรีย์ของพระเจ้าตากสินอีกเช่นกัน ตระกูลแต้จิ๋วเก่าแก่ตระกูลหนึ่งได้อพยพออกมาตั้งแต่ปี 2383 (1840) ตระกูลนี้คือตระกูลหวั่งหลี ตระกูลหวั่งหลีอพยพมาเมืองไทยหลังระยะที่หนึ่งของการวิจัยชุดนี้ หวั่งหลีเป็นตระกูลใหญ่และเก่าแก่ ผู้นำของตระกูลที่ไปตั้งรากฐานในประเทศไทยได้กลับมาสร้างบ้านใหญ่โตถึง 3 หลังที่เฉิงห่าย และได้กลับมาพำนักอยู่ในบางระยะ ผู้ที่ศึกษาเรื่องชาวแต้จิ๋วที่เฉิงห่ายจึงจะต้องรู้จักบ้านของตระกูลหวั่งหลีที่ตำบลหล่งโตว ซึ่งสร้างโดยเฉินลิกเหมย กับญาติอีกสองคนจากฮ่องกงและเวียดนาม มาสร้างในระยะเวลาไล่ ๆ กัน นอกจากตระกูลหวั่งหลีแล้ว ชาวไทยเชื้อสายแต้จิ๋วที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวเฉิงห่ายก็มีเช่น ปรีดี พนมยงค์ ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ วรรณ ซันซื่อ
เฉาหยาง (Chaoyang) หรือเตียเอีย
อำเภอเฉาหยางเดิมชื่ออำเภอไห่หยาง เป็นอำเภอที่ประชากรมีความสัมพันธ์กับชาวจีนโพ้นทะเลในต่างประเทศมากที่สุด เมื่อเทียบกับอีก 10 อำเภอในนครซัวเถาปัจจุบันที่เป็นเช่นนี้ เพราะมีชาวเตียเอียอยู่ในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ประมาณกันว่ามีอยู่ในเมืองไทย 7 แสนคน ฮ่องกง 6 แสนคน ปัจจุบันเฉาหยางมีประชากรประมาณ 1 ล้าน 8 แสนคน ความสำคัญของเฉาหยางสำหรับประเทศไทยก็คือ เฉาหยางเป็นถิ่นกำเนิดของชาวแต้จิ๋วที่อพยพไปประเทศไทย และกลายเป็นเศรษฐีใหญ่และผู้มีชื่อเสียงหลายคน อาทิเช่น ชิน โสภณพนิช อุเทน เตชะไพบูลย์ วัฒนา อัศวเหม ประมาณ อดิเรกสาร บ้านเกิดของชิน โสภณพนิชอยู่ที่ตำบลเฉียซาน (หับซัว) ชินได้สร้างบ้านขึ้นในปี 2391 (1948) และสร้างโรงเรียนเฉียซานจงฮักขึ้นเมื่อปี 2527 (1984) ส่วนบ้านเกิดของเจิ้งจื่อปินบิดาของอุเทน เตชะไพบูลย์ อยู่ที่ตำบลซัวเล้ง เจิ้งจื่อปินสร้างบ้านไว้ตั้งแต่ประมาณปี 2482 (1939) ต่อมาอุเทนได้สร้างโรงเรียน ชื่อโรงเรียน ตงเซียนขึ้นในปี 2524 (1981)
ศูนย์รวมอย่างหนึ่งของชาวแต้จิ๋วในประเทศไทยก็มีกำเนิดมาจากอำเภอเฉาหยาง ได้แก่พระภิกษุไต้ฮงกง มีตำนานเล่ากันว่าเมื่อปี 1638 (1095) สมัยราชวงศ์ซ้อง เกิดโรคระบาดในเขตเฉาหยาง ผู้คนล้มตายกันมาก พระภิกษุไต้ฮงกงซึ่งเดิมเป็นนายอำเภอแล้วลาออกมาบวช ได้จาริกมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดปักซัวในอำเภอเฉาหยางนี้ ท่านเห็นผู้คนล้มตายศพเกลื่อนกลาดทั้งบนถนนและตามลำน้ำ จึงให้ลูกศิษย์ช่วยกันเก็บศพนำไปฝังไว้ที่วัดและตัวท่าน เองก็ลงมือเก็บศพด้วยตนเอง ไม่ละเว้นแม้จะเป็นศพที่เน่าเฟะแล้ว พระภิกษุไต้ฮงกงชวนชาวบ้านให้บริจาคเงินซื้อหีบศพบรรจุศพ ไม่มีญาติเหล่านี้แล้ว ท่านก็นำไปขุดหลุมฝังศพด้วยตนเอง การกระทำดังกล่าวทำให้ชาวบ้านเกิดความซาบซึ้งและเลื่อมใส จึงขอสมัครเป็นลูกศิษย์และช่วยประกอบกุศลกิจในด้านเก็บศพและฝังศพอย่างแพร่หลาย หลังจากนั้นเมื่อท่านย้ายไปจำพรรษาในตำบลฮั่วเพ้งก็ได้ชักชวนชาวบ้านสร้างสะพานข้ามแม่น้ำกว้างถึง 300 วาเสร็จภายใน 1 ปี และสร้างตลอดจนซ่อมแซมถนนสำคัญ เมื่อท่านมรณะภาพ ชาวเฉาหยางหรือเตียเอียถือท่านเป็นปูชนียบุคคลมาโดยตลอด มีการสร้างศาลเจ้าถวาย เรียกว่า ป่อเต็ก แปลว่า คุณานุสรณ์ และเรียกชื่อท่านว่า ไต้ฮงโจวซือ เเปลว่าบุรพาจารย์ไต้ฮง ภายหลังได้มีการตั้งมูลนิธิเพื่อเป็นการแสดงคาราวะต่อท่านมากมายถึง 500 แห่ง ในมณฑลกวางตุ้ง มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งเริ่มที่ตำบลฮั่วเพ้ง ในปี 2454 (1911) และตั้งในประเทศไทยเมื่อ ปี 2493 (1950) โดยการที่ชาวเตียเอียผู้หนึ่งนำรูปจำลองของพระภิกษุไต้ฮงกงจากฮั่วเพ้งมาประดิษฐานไว้ที่ร้านค้าของตนและประชาชนจำนวนมากมายพากันมาสักการะบูชา ในที่สุดชาวจีนในประเทศไทย 12 คน จึงได้ร่วมกันจัดตั้งสถานที่บูชาไต้ฮงกงโจวซือขึ้นที่ศาลเจ้าไต้ฮงข้างวัดคณิกาผล ถนนพลับพลาไชย และได้จัดมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งขึ้น มูลนิธิฯกับชาวจีนแต้จิ๋วจึงแยกกันไม่ออกและจุดกำเนิดของป่อเต็กตึ๊งก็มาจากอำเภอเหยาฉางหรือเตียเอียนี้เอง ที่เฉาหยางก็มีศาลเจ้าไต้ฮงโจวซือซึ่งสร้างขึ้นในปี 2524 (1981) โดยอุเทน เตชะไพบูลย์ได้บริจาคเงินจำนวน 5 แสน เหรียญฮ่องกง ส่วนศาลเจ้าเดิมซึ่งเป็นฮวงซุ้ยของท่านพระภิกษุด้วยนั้นอยู่นอกเมืองเฉาหยาง
ในการปูพื้นให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานที่สำคัญในเขตเฉาซานในบทนำนี้ มิได้ครอบคลุมถึงอำเภอทั้งหมดในเขตซ่านโถว ปัจจุบันนครซ่านโถวมีอำเภออยู่ในปกครอง 11 อำเภอ ดังรายชื่อต่อไปนี้
ชื่อในภาษาจีนกลาง ชื่อในภาษาแต้จิ๋ว
ซานโถว (Shantou) ซัวเถา
เฉิงห่าย (Shenghai) เท่งไฮ้
เฉาอัน (Chaoan) เตี่ยอัน
เฉาหยาง (Chao yang) เตียเอีย
หนานอ้าว (Nan Ao) ล่ำฮอ
เจี้ยหยาง (Jieyang) กิกเอี้ย
ฝู่หนิง (Puning) โผ่วเล้ง
เจี้ยซี (Jiexi) กิ๊กไซ
ฮุ่ยหลาย (Huilai) ฮุยไล้
ลกฮง (Lufeng) ลงฮง
ไฮ่ฝง (Haifeng) ไฮ้ฮง
ลักษณะและกระบวนการอพยพ
เมื่อชาวแต้จิ๋วอพยพลงเรือสำเภาหัวแดงจากท่าเรือจางหลินแล้วก็จะมาขึ้นเรือที่กรุงเทพฯ ที่ท่าน้ำใกล้สำเพ็ง บางกลุ่มอาจจะไปขึ้นเรือที่ฉะเชิงเทรา หรือบางปลาสร้อย (ชลบุรี) หรือจันทบุรี คำว่า เรือสำเภา (Junk) ที่หมายถึงเรือของชาวจีนนี้ สันนิษฐานว่ามาจากคำภาษาชวาว่า จอง (Jong) หรือคำภาษามาเลย์ว่า อาจอง (ajong) ซึ่งแปลว่าเรือหรือเรือใหญ่ แต่ในภาษาจีนเองคำว่า ฉวน (Chuan) ก็หมายถึงเรือเช่นกัน ส่วนคำว่า “สำเภา” หรือ “ตะเภา” ในภาษาไทยที่ใช้เรียกชื่อเรือชนิดนี้ สารสิน วีระผลได้อ้างข้อสันนิษฐานของ Gerini ว่าอาจจะมาจากคำว่า โป (Pho) หรือ โบ (boh) ในภาษาจีน ซึ่งแปลว่าเรือเดินสมุทร แล้วคนไทยเติมคำว่า “สำ” และ “ตะ” ลงไป คำว่า “สำ” หมายถึงสามเพราะเรือเหล่านี้ต้องมีเสากระโดงไม่ต่ำกว่าสามเสา ส่วนคำว่า “ตะ” หมายถึง ตา เพราะเรือนี้จะมีรูปตาขนาดใหญ่ระบายด้วยสีไว้ที่หัวของเรือ ส่วนคำว่า “เภา” นั้นก็เพี้ยนมาจากคำว่า “โบ” นั่นเอง ลักษณะเรือสำเภาจีนต่างจากเรือในตะวันตก คือสายระยางของเรือและใบเรือใช้เสื่อสานด้วยไม้ไผ่ ท้องเรือรูปกลมไม่มีกระดูกงูเป็นส่วนใหญ่ เรือสำเภาจีนที่ใช้เดินสมุทรต้องมีขนาดใหญ่ถึง 3 เสากระโดงขึ้นไป ถ้าเป็นเรือหัวเขียวจะเป็นเรือจากมณฑลฟูเกี้ยน ส่วนเรือหัวเเดงมาจากมณฑลกวางตุ้ง ที่ทาสีต่างกันก็เพื่อให้สะดวกในการเรียกเก็บภาษีและการตรวจค้นทางทะเล เรือเหล่านี้มักมีระวางบรรทุกเฉลี่ย 350 ตัน เมื่อชาวแต้จิ๋วอพยพมาเมืองไทยมากขึ้น ก็ได้ใช้ไม้โดยเฉพาะไม้สักที่เมืองไทยต่อเรือสำเภาเช่นกัน ในเวลาต่อมา เรือที่ต่อในเมืองไทยได้ชื่อว่าถูกที่สุดและคงทนที่สุด เรือสำเภาเหล่านี้แล่นลงสู่ทะเลใต้ (หนานหยาง) เพื่อทำการค้าขายกันประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในระยะที่ยังไม่มีเรือกลไฟนั้น การเดินทางจากจางหลินมายังประเทศไทยใช้เวลานานถึงหนึ่งเดือนส่วนใหญ่การเดินทางจะเป็นไปในลักษณะเรือสำเภาขนสินค้า โดยเฉพาะข้าว) จากประเทศไทยมายังประเทศจีนแล้วขนชาวจีนอพยพไปยังประเทศไทย แต่มิใช่ว่าการเดินเรือขามาจะมีแต่สินค้าและ ขากลับจะมีแต่ผู้โดยสารแต่อย่างเดียว เพราะในเทียวขามาก็จะมีชาวจีนอพยพบางคนที่เดินทางไปมาค้าขาย โดยสารกลับมาประเทศจีนด้วย ในขณะเดียวกัน ในเที่ยวขากลับก็มีสินค้าจากจีนส่งไปขายที่ประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะผ้าไหม ชาและผักดองเค็มต่าง ๆ รายละเอียดของการค้าสำเภานี้มีอยู่ในงาน ของคุชแมนแล้วและจะนำไปเสนอในบทที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจางหลิน ประเทศไทย จึงจะไม่นำมากล่าวถึงในบทนี้ จะกล่าวถึงแต่เฉพาะการเดิน ทางของชาวแต้จิ๋วเท่านั้น
พวกแต้จิ๋วได้ชื่อว่าเดินเรือเก่งและต่อเรือเก่งมานานแล้ว จึงเข้าดำเนินกิจการค้าสำเภาซึ่งเป็นวิถีทางเดียวของการพอยพ การเดินเรือสมัยนั้นต้องเป็นไปตามฤดูกาล กล่าวคือ อาศัยลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในการเดินทางจากจีนมาไทย ระยะเวลาดังกล่าวจะอยู่ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน ส่วนการเดินทางไปจีนก็ต้องอาศัยลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะพัดระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม สกินเนอร์ได้อ้างเฉิน ต๋า ว่าได้มีการจัดเรือสำเภา สำหรับผู้โดยสารเป็นพิเศษเมื่อมีผู้อพยพจำนวนเพิ่มขึ้นอัตราค่าโดยสารจากจางหลินมากรุงเทพฯ เป็นเงิน 6 เหรียญสเปน และเมื่อผู้อพยพมารับจ้างทำงานในกรุงเทพฯ เขาจะได้ค่าจ้างประมาณเดือนละ 3-4 เหรียญสเปน เงินเหล่านี้จะถูกหักไปชดใช้เป็นค่าโดยสาร
เฉินต๋า ได้บรรยายสภาพของการเดินทางเรือสำเภาของชาวจีนผู้หนึ่งเมื่อปี 2413 (1870) ไว้ดังนี้
“เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กชาย หมู่บ้านของเรามีเรือสำเภาเดินทะเลแปดลำ ในการเดินทางลงไปทางใต้ เรือสำเภาเหล่านี้มักไปยังกรุงเทพฯ บรรทุกถั่ว ชา และไหม เป็นสินค้าที่สำคัญเรือสำเภาลำใหญ่ที่สุดบรรทุกผู้โดยสารกว่าสองร้อยคน ผู้โดยสารคนหนึ่งๆ มักจะนำไหน้ำซึ่งทำในท้องถิ่น พร้อมกับเสื้อใส่หน้าร้อนสองชุด หมวกฟางกลม ๆ หนึ่งใบ และเสื่อฟางหนึ่งผืนติดตัวมาด้วย การเดินทางจากซัวเถามากรุงเทพฯ กินเวลาหนึ่งเดือน หลังจากที่ก้าวลงเรือสำเภาแล้ว เราทำอะไรไม่ได้ นอกจากภาวนาสวรรค์ให้เราเดินทางตลอดรอดฝั่งโดยปลอดภัย”
การเดินทางเป็นไปด้วยความกันดารและลำบาก ชาวแต้จิ๋วอพยพไม่น้อยที่ล้มตายไป เพราะความอดอยาก ส่วนใหญ่ผู้อพยพจะถูกจัดให้อยู่บนดาด ฟ้าเรือเพราะท้องเรือใช้บรรทุกสินค้าจนเต็ม ผู้อพยพจึงต้องตากแดดตากลมตลอดทาง และมักขาดอาหารและน้ำเพราะการเดินทางกินเวลานาน
เนื่องจากมีความต้องการแรงงานสำหรับการเกษตรและการก่อสร้างในไทย ผู้อพยพชาวแต้จิ๋วเหล่านี้จึงพากันเดินทางมาหางานกันเป็นจำนวนมาก Crawford กล่าวว่า “ผู้โดยสารเป็นสินค้าเข้าที่มีมูลค่ามากที่สุดจากเมืองจีนมายังสยาม” และได้ประมาณไว้ว่ามีชาวจีนจำนวนประมาณ7,000 คน อพยพมายังประเทศไทยในแต่ละปี สกินเนอร์เองประมาณตัวเลขใกล้เคียงกันคือ 6,000-8,000 คน เมื่อถึงปี 2392 (1849) ซึ่งเป็นปีก่อนสุดท้ายของรัชสมัยรัชกาลที่ 3 มัลลอคได้ประมาณว่ามีชาวจีนอยู่ในประเทศไทยถึง 1 ล้าน 1 แสนคน ในขณะที่ประชากรทั้งหมดของไทย ขณะนั้นมีประมาณ 3,653,150 คน ซึ่งถ้าเป็นตามที่มัลลอคคาดคะเน ชาวจีนอพยพในสมัยนั้นจะมีถึงหนึ่งในสามของประชากรทั้งหมด แต่สกินเนอร์คิดว่ามัลลอคประมาณสูงเกินไป เพราะได้พบเห็นชาวจีนจำนวนมากในสยาม สกินเนอร์มีความเห็นว่าการประมาณการของราเควซที่ระบุจำนวนประมาณหกแสนคนในปี 2443 (1900) นั้นน่าจะใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด ไม่ว่าจะยึดถือข้อมูลของใครก็ตาม เราคงยืนยันได้ว่า มีคนจีนจำนวนมากในประเทศไทยในกลางและปลาย คริสตศตวรรษที่ 19 แต่เราไม่อาจระบุได้ว่ามีชาวแต้จิ๋วจำนวนเท่าใดในกลุ่มนี้ นอกจากยืนยันได้ว่าเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ เมื่อหมอบรัดเลย์ไปเยือนเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกในปี 2379 (1836) ก็ได้กล่าวไว้ว่าจันทบุรีและบริเวณใกล้เคียง “แผ่นดิน..เกือบจะเต็มไปด้วยจีนแต้จิ๋ว (ผู้ซึ่ง) ..ปลูกอ้อย พริกไทย และยาสูบเป็นส่วนใหญ่” ชาวแต้จิ๋วได้ขยับขยายขึ้นไปตั้งหลักแหล่งถึงจังหวัดตากและเชียงใหม่ในกลางคริสตวรรษที่ 19 เพราะความดึงดูดทางการค้าที่เชื่อมโยงยูนนาน พม่า และลาว ถึงแม้ชาวจีนไหหลำจะเป็นกลุ่มแรกที่เสี่ยงภัยออกไปตั้งหลักแหล่งอยู่ตามเมืองในชนบทต่าง ๆ ก็ตามแต่หลังจากที่ได้มีการสร้างเส้นทางคมนาคมแล้ว ชาวแต้จิ๋วก็ขยับขยายไปตั้งหลักแหล่งในเมืองเหล่านั้นบ้าง และในที่สุดก็ช่วงชิงบทบาททางการค้าจากชาวไหหลำ ดังที่สกินเนอร์ได้อ้างข้อมูลจากผู้เฒ่าคนหนึ่งในเมืองพิจิตรว่า
“เมื่อพวกแต้จิ๋วมาถึง พวกนี้ก็สามารถเอาชนะพวกไหหลำได้หมด เพราะว่าพวกแต้จิ๋วมีความอุตสาหะที่จะทำธุรกิจด้วยทุนรอนเล็กน้อยที่สุด ดังนั้นพวกไหหลำจึงต้องโยกย้ายเข้าไปอยู่ในถิ่นที่ไกลออกไป พวกแต้จิ๋วมีความเฉลียวฉลาดในทางการค้า”
หลังจากเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว ชาวแต้จิ๋วต่างก็มีโชคชะตาที่ต่างกันไป บางคนประสบความสำเร็จในชีวิตได้กลายเป็นเจ้าสัวฝังรกรากอยู่ในเมืองไทยตลอดมา บางคนหลังจากทำมาหากินอยู่ในเมืองไทยระยะหนึ่งก็กลับคืนไปสู่บ้านเกิดเมืองนอน และบางคนที่โชคร้าย มีชีวิตที่ลำบากยากเข็ญและตายไปในเมืองไทยเสมือนไร้ญาติขาดมิตร ชาวแต้จิ๋วจึงมีคำกล่าวเล่น ๆ ที่เรียกว่า ซาซัว หรือซัวสามประการ ประการแรกได้แก่ จ๊อซัว หมายถึงการเป็นเจ้าสัว คือคนกลุ่มแรกที่กล่าวมาแล้ว ประการที่สองได้แก่ตึ่งซัว หมายถึงการได้กลับไปเมืองจีน คือคนกลุ่มที่สอง และประการสุดท้ายได้แก่ งี่ซัว หมายถึง สุสานวัดดอน คือการถูกฝังเป็นผีไม่มีญาติอยู่ในสุสานใหญ่ของชาวแต้จิ๋วในวัดดอนกุศล ยานนาวา ของคนกลุ่มที่สามนั่นเอง ต้วนลี่เซิงได้พบคำกลอนสลักไว้ที่ฮวงซุ้ยสุสานงี่ซัว วัดดอนมีใจความดังนี้
“เคยล่องผ่านน้ำดำ เคยกินน้ำขม
ความในใจอันเต็มอุระไหลไปกับสายน้ำ หวังจะเป็นเจ้าสัว
ไม่สามารถกลับสู่แผ่นดินเกิด เมื่อแก่ลงก็ฝังกระดูกที่งี่ซัว”
จากหนังสือ “ชาวจีนแต้จิ๋วในประเทศไทยและภูมิลำเนาเดิมที่เฉาซันสมัยที่หนึ่ง ท่าเรือจากงหลิน (2310-2393) โดยสถาบันเอเชียศึกษา หน้า 1-19
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น